Assignment 1 (ITM 640) : VoIP Voice over IP
ประวัติโทรศัพท์
โทรศัพท์ได้ถูกคิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2419 โดยนักประดิษฐ์ ชื่อ ALEXANDER GRAHAM BELL หลักการของโทรศัพท์ที่ Alexander ประดิษฐ์ก็คือ ตัวส่ง(Transmitter) และ ตัวรับ(Receiver) ซึ่งมี โครงสร้างเหมือนลําโพงในปัจจุบันกล่าวคือ มีแผ่นไดอะแฟรม (Diaphragm) ติดอยู่กับขดลวด ซึ่งวางอยู่ใกล้ ๆ แม่เหล็กถาวร เมื่อมีเสียงมากระทบแผ่น ไดอะแฟรม ก็จะสั่นทําให้ขดลวดสั่นหรือเคลื่อนที่ตัดสนามแม่เหล็กเกิดกระแสขึ้นมาในขดลวดกระแสไฟฟ้านี้จะวิ่งตามสายไฟถึงตัวรับซึ่งตัวรับก็จะมีโครงสร้างเหมือนกับตัวส่ง เมื่อกระแสไฟฟ้ามาถึงก็จะเข้าไปในขดลวด เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่มานี้เป็นไฟกระแสสลับ (AC) มีการเปลี่ยนแปลงขั้วบวกและลบอยู่ตลอดเวลา ก็จะทําให้เกิดสนามแม่เหล็กขึ้นรอบๆขดลวดของ ตัวรับสนามแม่เหล็กนี้จะไปผลักหรือดูดกับสนามแม่เหล็กถาวรของตัวรับ แต่เนื่องจากแม่เหล็กถาวรที่ตัวรับนั้นไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ ขดลวดและแผ่นไดอะแฟรมจึงเป็นฝ่ายที่ถูกผลักและดูดให้เคลื่อนที่ การที่ไดอะแฟรมเคลื่อนที่จึงเป็นการตีอากาศตามจังหวะของกระแสไฟฟ้าที่ส่งมา นั่นคือเกิดเป็นคลื่นเสียงขึ้นมาในอากาศทําให้ได้ยิน แต่อย่างไรก็ตามกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากตัวส่งนี้มีขนาดเล็กมาก ถ้าหากใช้สายส่งยาวมากจะไม่สามารถได้ยินที่ผู้ส่งได้ วิธีการของ ALEXANDER GRAHAM BELL จึงไม่ประสบผลสําเร็จเท่าใดนัก แต่ก็เป็นเครื่องต้นแบบให้มีการพัฒนาต่อมาใน ปี พ.ศ.2420 THOMAS ALWA EDISON ได้ประดิษฐ์ตัวส่งขึ้นมาใหม่ให้สามารถส่งได้ไกลขึ้นกว่าเดิมซึ่งตัวส่งที่ Edison ประดิษฐ์ขึ้นมา มีชื่อว่า คาร์บอน ทรานสมิทเตอร์ (Carbon Transmitter)
รูป แสดงหลักการโทรศัพท์ของ Bell
คาร์บอน ทรานสมิทเตอร์(Carbon Transmitter)ให้กระแสไฟฟ้าออกมาแรงมาก เนื่องจากเมื่อมีเสียงมากระทบแผ่นไดอะแฟรม แผ่นไดอะแฟรมจะไปกดผงคาร์บอน(Carbon) ทําให้ค่าความต้านทานของผงคาร์บอนเปลี่ยนแปลงไปตามแรงกด ดังนั้นแรงเคลื่อนตกคร่อมผงคาร์บอนจะเปลี่ยนแปลงด้วย เนื่องจากแรงเคลื่อน ที่จ่ายให้คาร์บอนมีค่ามากพอสมควร การเปลี่ยนแปลงแรงเคลื่อน จึงมีมากตามไปด้วย และการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงยอดของไฟกระแสตรง (DC) ที่จ่ายให้คาร์บอน ซึ่งเราอาจกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ก็คือไฟกระแสสลับ (AC) ที่ขี่อยู่บนยอดของไฟกระแสตรง (DC) นั่นเอง
วิวัฒนาการการสื่อสารของข้อมูลผ่านระบบเครือข่าย
เมื่อโทรศัพท์มีการหมุนเลขหมายเพื่อโทรออก เครื่องโทรศัพท์จะสร้างสัญญาณขึ้นมาสัญญาณหนึ่งซึ่ง สอดคล้องสัมพันธ์กับเลขหมายที่หมุนสัญญาณนี้เรียกว่าสัญญาณไดอัล (Dial Signal) ซึ่งสัญญาณนี้จะถูกส่งไปยังชุมสายโทรศัพท์เพื่อให้ชุมสายทําการตรวจสอบ ค้นหา และต่อผู้รับให้ สัญญาณที่ถูกส่งไปนี้ก็คือรหัสเลขหมายโทรศัพท์นั่นเอง โดยรหัสนี้เครื่องโทรศัพท์จะเป็นผู้สร้างขึ้นมาทันทีที่มีการหมุน แต่ในการสื่อสารผ่านอุปรณ์เครือข่ายรหัสนี้จะถูกเปลี่ยนแปลงรูปแบบเพื่อใช้ในการสื่อสารในระยะทางไกล ซึ่งสามารถสรุปเป็นวิวัฒนาการการสื่อสารของข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายได้ดังนี้
1.ระบบการสื่อสารอนาล็อกทั้งระบบ
ระบบการสื่อสารอนาล็อกทั้งระบบเป็นระบบการสื่อสารแบบเก่าโดยจจะส่งสัญญาณในการสื่อสารเป็น แบบต่อเนื่องที่ทุกๆค่าที่เปลี่ยนแปลงไปของระดับสัญญาณจะมีความหมายการส่งสัญญาณแบบนี้จะถูกรบกวนให้มีการแปลความหมายผิดพลาดได้ง่ายเนื่องจากค่าทุกค่าถูกนํามาใช้งาน ซึ่งสัญญาณแบบอนาล็อกนี้จะเป็นสัญญาณที่สื่อกลางในการสื่อสารส่วนมากใช้อยู่ เช่น สัญญาณเสียงในสายโทรศัพท์ เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการพัฒนาการสื่อสารแบบอนาล็อกจนประยุกต์ให้สามารถส่งข่าวสารได้ด้วย ปัญหาสําคัญสําหรับการสื่อสารแบบอนาล็อกก็คือเรื่องสัญญาณรบกวน แต่เนื่องจากสัญญาณในธรรมชาติทั้งหมดเป็นสัญญาณอนาล็อกจึงยังคงเห็นการพัฒนาของการสื่อสารแบบอนาล็อกอยู่ในปัจจุบัน
2. ระบบการสื่อสารกึ่งอนาล็อกกึ่งดิจิตอล
ระบบการสื่อสารกึ่งอนาล็อกกึ่งดิจิตอลจะมีการนําเครือข่าย IDN (Integrated Digital Network) มาใช้ใน การสื่อสารซึ่งเป็นการรวมการส่งข้อมูลดิจิตอลกับระบบสวิทชิ่งดิจิตอลเข้าด้วยกัน ข้อมูลที่ผ่านเข้าสู่สวิทชิ่งดิจิตอลของเครือข่ายจะต้องเป็นข้อมูลดิจิตอลเท่านั้น ดังนั้นข้อมูลอนาล็อกจากต้นทางจะต้องแปลงเป็นข้อมูลดิจิตอลก่อนด้วยการมอดูเลต (Modulate) แบบ PCM (Pulse Code Modulation) จากนั้นจึงมัลติเพล็กซ์ (Multiplex) สัญญาณเป็นวิธีการรวมข้อมูลจากหลายๆจุดแล้วส่งผ่านไปตามสายส่งเพียงสายเดียว โดยวิธีแบ่งตามเวลาหรือ TDM (Time Division Multiplex) จากนั้นข้อมูลที่เป็นดิจิตอลแล้วจะถูกส่งมายังสถานี สวิทชิ่งดิจิตอล เพื่อทําการจัดเส้นทาง ข้อมูลส่งต่อไปยังปลายทางต่อไป
3. ระบบการสื่อสารบริการรวมดิจิตอล
ระบบการสื่อสารบริการร่วมดิจิตอล หรือเครือข่ายบริการร่วมระบบดิจิตอล (Integrated Service Digital Network : ISDN) หมายถึง การรวมสัญญาณเสียงดิจิตอลและข่าวสารดิจิตอลอื่น ๆ ส่งผ่านเครือข่ายระบบดิจิตอลไปพร้อมๆกัน จุดประสงค์หลักของการพัฒนาเครือข่าย ISDN คือลดค่าบริการและให้บริการการสื่อสารข่าวสารข้อมูลและเสียงในเครือข่ายโทรคมนาคมดิจิตอลสาธารณะ ที่ให้บริการสื่อสารข่าวสารข้อมูลทั่วโลกแก่ผู้ใช้บริการทุกประเภท ในเครือข่ายจะประกอบด้วยระบบสวิทชิ่งแบบดิจิตอล สายสื่อสารดิจิตอลและเทคนิคสําหรับการสื่อสารดิจิตอล โดยอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายก็จะเป็นอุปกรณ์เฉพาะของระบบดิจิตอล ดังนั้นเครือข่าย ISDN จึงเป็นเครือข่ายแบบดิจิตอลโดยสมบูรณ์และครบวงจร (All - digital Network)
วิวัฒนาการการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต
ในปัจจุปันการใช้อินเทอร์เน็ตมีบทบาทกับชีวิตประจำวันมากขึ้น และใช้งานกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำเป็นที่จะต้องติดต่อสื่อสาร อินเตอร์เน็ตจึงได้รับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการสื่อสารรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้จดหมายอินเล็กทรอนิกส์ การติดต่อด้วยเสียง ระบบ VDO Conference การใช้โทรศัพท์บนเครือข่าย ซึ่งก็มีวิวัฒนาการตามลำดับเบื้องต้นดังนี้
E-mail หรือ จดหมายอิเล็กทรอนิคส์เป็นบริการอย่างหนึ่งที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมาก จนทำให้บางคนคิดว่า E-mail คือ อินเตอร์เน็ต และอินเตอร์เน็ตคือ E-mail วิธีใช้งานอีเมลล์ก็ง่ายและมีประโยชน์มาก การทำงานของ E-mail มีลักษณะคล้ายกับระบบไปรษณีย์ปกติ (หมายถึงระบบที่ใช้กระดาษในการเขียนจดหมาย) กล่าวคือในระบบไปรษณีย์ปกติมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการรับส่งจดหมายคือเป็นบรุษไปรษณีย์ (ในกรณีของประเทศไทยคือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย) ถ้าเป็นในอินเตอร์เน็ตสิ่งที่ทำหน้าที่คอยรับส่งจดหมายคือบรรดาคอมพิวเตอร์ทั้งหลายที่ทำหน้าที่เป็น E-mail Server (คอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ให้บริการด้านจดหมายอิเล็กทรอนิคส์)
Chat คือ การส่งข้อความสั้นๆ ระหว่างบุคคลที่อยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ในเวลาเดียวกัน และสามารถเขียนโต้ตอบกันไปมาคล้ายกับการคุยกัน ซึ่งก็ได้มีการพัฒนโปรแกรมสำหรับหาร Chat ออกมามากมายที่เป็นที่นิยมและใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือ MSN Messenger
และสิ่งหนึ่งที่มีการพัฒนาต่อมา คือระบบการสื่อสารด้วยเสียงผ่านเครือข่าย IP ที่เรียกว่า เทคโนโลยี Voice over IP หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “VoIP” จนสามารถใช้งานได้ดีขึ้น เพื่อให้ได้รับประโยชน์และมีความสะดวกมากที่สุด VoIP ถูกเริ่มต้นใช้งานกันอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสามารถสนทนา ระหว่างกัน ได้ รวมถึงการสนทนากับโทรศัพท์พื้นฐานอีกด้วยโดยไม่เสียค่าบริการแต่อย่างได และคุณภาพของบริการก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆจนเทียบเท่าระบบ โทรศัพท์พื้นฐาน
หลักการพื้นฐานของเครือข่าย IP
เครือข่ายไอพี (Internet Protocol) มีพัฒนามาจากรากฐานระบบการสื่อสารแบบ Packet โดยระบบมีการกำหนด Address ที่เรียกว่า IP Address จาก IP Address หนึ่ง ถ้าต้องการส่งข่าวสารไปยังอีก IP Address หนึ่ง ใช้หลักการบรรจุข้อมูลใส่ใน Packet แล้วส่งไปในเครือข่าย ระบบการจัดส่ง Packet กระทำ ด้วยอุปกรณ์สื่อสารจำพวก Router โดยมีหลักพื้นฐานการส่งเป็นแบบ DATAGRAM หรือ Packet ซึ่งมีความหมายว่า "เป็นที่เก็บข้อมูลที่เป็นอิสระ ซึ่งมีสารสนเทศเพียงพอในการเดินทางจากแหล่งข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์ปลายทาง โดยปราศจากความเชื่อมั่นของการเปลี่ยนครั้งก่อน ระหว่างแหล่งข้อมูลกับคอมพิวเตอร์ปลายทาง และเครือข่ายการส่งข้อมูล"
ซึ่งจะเห็นว่าการส่งแบบ Packet เข้าไปในเครือข่ายนั้น จะไม่มีการประกันว่า Packet นั้นจะถึงปลายทางเมื่อไร ดังนั้นรูปแบบของเครือข่ายไอพีจึงไม่เหมาะสมกับการสื่อสารแบบต่อเนื่องเช่น การส่งสัญญาณเสียง หรือวิดีโอ เมื่อเครือข่าย IP กว้างขวางและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ความต้องการส่งสัญญาณข้อมูลเสียงที่ได้คุณภาพจึงเกิดขึ้น ก็เลยมีการพัฒนาเป็น VoIP
VoIP คืออะไร
Voice-over-Internet Protocol คือเทคโนโลยีที่ช่วยให้คุณโทรศัพท์ผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแทนที่จะใช้สายโทรศัพท์ทั่วไป (หรือสายโทรศัพท์แบบอะนาล็อก) เทคโนโลยีนี้จะแปลงสัญญาณเสียงจากโทรศัพท์ของคุณให้เป็นสัญญาณดิจิทัลซึ่งจะเดินทางผ่านอินเทอร์เน็ตจากนั้นแปลงกลับที่ปลายทาง ทําให้คุณสามารถสนทนากับใครก็ตามที่มีหมายเลขโทรศัพท์ทั่วไป หรือ โทรศัพท์มือถือ โดยหลักการทำงาน คือ การที่นำสัญญาณเสียงมาผสมรวมเข้ากับสัญญาณข้อมูล เพื่อให้สามารถส่งผ่านไปบนระบบเครือข่ายด้วยโปรโตคอลที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย คือ Internet Protocol หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม IP ซึ่งโดยปกติจะใช้ IP ในการส่งสัญญาณข้อมูลเท่านั้น แต่ด้วยเทคโนโลยี VoIP นี้ ทำให้สามารถพัฒนาการสื่อสารผ่านสัญญาณเสียงให้สามารถสื่อสารผ่าน IP ได้ ทำให้เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของเครือข่ายโทรศัพท์ได้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งการตดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์แต่เดิมนั้นเป็นระบบ Analog ซึ่งเป็นความสิ้นเปลืองทั้งเวลาและการใช้อุปกรณ์ ตัวอย่างเช่นการใช้สายโทรศัพท์เส้นหนึ่งต่อเชื่อมโทรศัพท์ต้นทางและปลายทาง พอระบบต่อเชื่อมโทรศัพท์ได้แล้วก็หมายความว่า การจราจรบนเส้นสายโทรศัพท์เส้นนี้ถูกจองทั้งถนน เพื่อให้สัญญาณโทรศัพท์ทั้งสองเครื่องนี้ใช้สนทนากัน เมื่อสนทนากันเสร็จเรียบร้อยก็วางสาย สายโทรศัพท์เส้นนี้ก็จะว่าง ก็หมายถึงถนนว่างแล้วให้รถยนต์คันอื่นวิ่งบ้าง ยกตัวอย่างนี้ให้เห็นว่าสมมติแบบนี้เป็นแบบ Analog แต่ถ้าเป็นระบบ digital ใช้ถนนแบบเดียวกัน เพียงแต่ว่ามีหลายเลน มีหลายช่องจราจร มีหลายระดับความเร็วแบ่งกันใช้ เมื่อเอาโทรศัพท์ที่สามารถใช้ระบบ IP Telephony มาต่อเชื่อมก็เหมือนกับว่าโทรศัพท์ 2 เครื่องต่อผ่านสายโทรศัพท์เส้นหนึ่ง แต่การส่งสัญญาณกันไปมาจะถูกแพ๊กย่อแล้วก็ทะยอยส่ง ช่วงว่างก็จะเป็นโอกาสให้ผู้อื่นส่งบ้าง เรียกว่าไปด้วยกัน แบ่งเลนกัน แบ่งเวลากัน ดังนั้นช่วงเวลาเท่าๆ กันระบบ IP Telephony สามารถคุยกันได้
Voice over IP (VoIP) ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี 1996 ในนิตยสาร CTI Magazine (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Communication Solutions Magazine). CTI หรือ Computer Telephony Integration Magazine ได้มีการวิจารณ์เกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ทำให้คอมพิวเตอร์และการโทรศัพท์สามารถทำงานร่วมกัน ซึ่งมีการใช้งานครั้งแรกในธุรกิจ Call Center โดยเป็นการทำงานร่วมกับเครื่องตอบรับโทรศัพท์อัตโนมัติ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการใช้ VoIP
1. โอกาสที่จะติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศ โดยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรืออินทราเน็ต โดยมีราคาที่ถูกกว่าโครงข่ายโทรศัพท์ทั่วไป
2. การพัฒนารูปแบบการสื่อสารใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน โดยที่ส่วนหนึ่งถูกพัฒนาขึ้นให้สามารถใช้งานใน VoIP ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารได้กว้างไกลมากขึ้น
3. การเป็นที่ยอมรับ และรับเอาคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอย่างมากมาย รวมทั้งการเพิ่มจำนวนขึ้นของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ VoIP ได้รับความนิยมในการติดต่อสื่อสาร
4. มีการใช้ประโยชน์จากระบบ Network ที่มีการพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปในปัจจุบัน ให้สามารถใช้งาน ได้ทั้งในการส่งข้อมูล และเสียงเข้าด้วยกัน
5. ความก้าวหน้าทางด้านการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ช่วยลดต้นทุนในการสร้างเครือข่ายของ VoIP ในขณะที่ ความสามารถ การให้บริการมีมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ เข้ามาร่วมใน VoIP มากขึ้น
6. ความต้องการที่จะมีหมายเลขเดียวในการติดต่อสื่อสารทั่วโลก ทั้งด้านเสียง, แฟกซ์ และข้อมูล ถึงแม้ว่าบุคคลนั้น จะย้ายไปที่ใด ก็ตามก็ยังคงสามารถใช้หมายเลขเดิมได้ เป็นความต้องการของผู้ใช้งานและธุรกิจ
7. การเพิ่มขึ้นอย่างมากมายของการทำรายการต่างๆ บน E-Commerce ในปัจจุบัน ผู้บริโภคต่างก็ต้องการการ บริการที่มีคุณภาพ และมีการโต้ตอบกันได้ระหว่างที่กำลังใช้ อินเทอร์เน็ตอยู่ ซึ่ง VoIP สามารถเข้ามาช่วยในส่วนนี้ได้
8. การเติบโตอย่างรวดเร็วของ Wireless Communication ในปัจจุบัน ซึ่งผู้ใช้ในกลุ่มนี้ต้องการ การติดต่อสื่อสารที่ราคาถูกลง แต่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน ดังนั้นตลาดกลุ่มนี้ถือว่า เป็นโอกาสของ VoIP
VOIP Technology
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้ระบบ IP Telephony คือ ส่วนบริการและฟังก์ชันต่างๆ (Voice services) ของเครือข่ายเสียงแบบเดิมเช่น Call forwarding, Call blocking, Conference call, etc. ยังคงมีความต้องการใช้งานอยู่และระบบ IP Telephony ต้องสามารถรองรับฟังก์ชันเหล่านี้ได้ด้วยซึ่งจะอาศัยส่วนประกอบต่างๆในระบบเช่น Call server, Gatekeeper และ Gateway เป็นต้น อย่างไรก็ตามระบบเครือข่ายเสียงรูปแบบเดิมก็คงต้องมีและถูกใช้งานอยู่ ดังนั้นการพัฒนาไปสู่ระบบ IP Telephony นั้นจะต้องใช้เวลาพอสมควรและอาจทำให้ต้องใช้งานทั้งสองระบบไปพร้อมๆกัน ซึ่งแนวทางของเทคโนโลยีในการใช้งานของระบบ VOIP แบ่งออกได้เป็น 2 ทางหลัก คือ
- การให้เครือข่าย IP เดิมมีส่วนที่เชื่อมต่อกับระบบสัญญาณเสียง (Voice-enabled IP network) โดยใช้ Voice interface บนอุปกรณ์เครือข่าย IP
- การพัฒนาระบบเครือข่าย PBX เดิมด้วยการเพิ่มเติม IP Interface ให้เป็น IP-enabled PBX เพื่อสามารถรับส่งสัญญาณเสียงเข้าไปใน IP network ได้
แนวทางของการพัฒนาเทคโนโลยีในการใช้งานระบบ VOIP แบบระบบเครือข่าย PBX จะมีประโยชน์มากกว่าคือ สามารถใช้งานระบบเครือข่ายเสียงได้และฟังก์ชันที่มีประโยชน์ต่างๆ มากมายบน PBX ก็ยังคงทำงานได้เป็นปรกติ โดยระบบ PBX จะมองเครือข่าย IP เป็นเพียงเส้นทางรับส่งสัญญาณทางหนึ่งเท่านั้น มีส่วนติดต่อกับผู้ใช้งาน (User Interface) ที่เหมือนกับระบบเครือข่าย PBX เดิม ซึ่งผู้ใช้มีความคุ้นเคยดีอยู่แล้ว และไม่ต้องเรียนรู้การใช้งานใหม่ ซึ่งระบบ IP-enabled PBX สามารถรับประกันคุณภาพของสัญญาณเสียงได้ โดยจะมีกลไกในการตรวจสอบเครือข่ายก่อนที่จะส่งข้อมูลเสียงออกไปและจะเปลี่ยนเส้นทางในกรณีที่เกิดความหนาแน่นของเส้นทางเดิม เช่น ถ้าเครือข่าย IP ข้อมูลหนาแน่นก็จะเปลี่ยนการส่งข้อมูลเสียงออกไปทาง ISDN หรือ Frame relay เป็นต้น
Standard of VoIP Technology
สำหรับมาตรฐานที่มีการใช้งานอยู่บนเทคโนโลยี VoIP นั้น โดยทั่วไปจะมีอยู่ 2 มาตรฐานด้วยกัน ได้แก่... มาตรฐาน H.323 และมาตรฐาน SIP มาตรฐานเหล่านี้ เราสามารถเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “Call Control Technologies” ซึ่งถือว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับการนำเทคโนโลยี VoIP มาใช้งาน
H.323 Standard
สำหรับมาตรฐาน H.323 นั้น จริงๆ แล้วไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานกับระบบเครือข่ายที่ใช้ Internet Protocol (IP) นอกจากนั้นมาตรฐาน H.323 ยังมีการทำงานที่ค่อนข้างช้า โดยปกติแล้วเราจะเสนอการใช้งานมาตรฐาน H.323 ให้กับลูกค้าก็ต่อเมื่อในระบบเดิมของลูกค้ามีการใช้งานมาตรฐานH.323อยู่แล้วเท่านั้นมาตรฐาน H.323 เป็นมาตรฐานภายใต้ ITU-T (International Telecommunications Union) Standard ในตอนแรกนั้น มาตรฐาน H.323ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับการทำ Multimedia Conferencing บนระบบเครือข่าย LAN เป็นหลัก แต่มาในตอนหลังจึงถูกพัฒนาให้ครอบคลุมถึงการทำงานกับเทคโนโลยี VoIP ด้วย มาตรฐาน H.323 สามารถรองรับการทำงานได้ทั้งแบบ Point-to-Point Communications และแบบ Multi-Point Conferences อุปกรณ์ต่างๆ จากหลากหลายยี่ห้อ หรือหลายๆ Vendors นั้นสามารถที่จะทำงานร่วมกัน (Inter-Operate) ผ่านมาตรฐาน H.323 ได้
SIP (Session Initiation Protocol) Standard
มาตรฐาน SIP นั้นถือเป็นมาตรฐานใหม่ในการใช้งานเทคโนโลยี VoIP โดยที่มาตรฐาน SIP นั้น ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานกับระบบ IP โดยเฉพาะ ซึ่งโดยปกติแล้วเราจะแนะนำให้ลูกค้าใหม่ที่จะมีการใช้งาน VoIP ให้มีการใช้งานอยู่บนมาตรฐาน SIP... มาตรฐาน SIP นั้นเป็นมาตรฐานภายใต้ IETF Standard ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับการเชื่อมต่อ VoIP มาตรฐาน SIPนั้นจะเป็นมาตรฐาน Application Layer Control Protocol สำหรับการเริ่มต้น (Creating), การปรับเปลี่ยน (Modifying) และการสิ้นสุด (Terminating) ของ Session หรือการติดต่อสื่อสารหนึ่งครั้งมาตรฐาน SIPจะมีสถาปัตยกรรมการทำงานคล้ายคลึงการทำงานแบบ Client-Server Protocol เป็นมาตรฐานที่มี Reliability ที่ค่อนข้างสูง
How VoIP Works…
Internet Protocol (IP)
Internet Protocol หรือ IP จะเป็นโปรโตคอลที่ใช้ในการสื่อสารข้อมูลในระบบ Internet ซึ่งในส่วนของการทำงานคร่าวๆ ของโปรโตคอล IP นี้สามารถสรุปอย่างย่อได้ดังต่อไปนี้...
• ข้อมูลจะถูกแบ่งย่อยออกเป็นส่วนๆ
• แต่ละส่วนของข้อมูลจะถูกส่งออกไปในเส้นทางที่อาจจะแตกต่างกันบนระบบ Internet
• ข้อมูลย่อยแต่ละส่วนนั้นจะไปถึงยังปลายทางในเวลาและลำดับที่ไม่พร้อมเพรียงกัน
• หลังจากนั้นจะมีโปรโตคอลอีกหนึ่งตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ Transmission Control Protocol (TCP) ซึ่ง TCP นี้จะเข้ามาช่วยเกี่ยวกับการเรียงลำดับข้อมูลที่มาถึงยังปลายทางนี้ให้อยู่ในลำดับและรูปแบบที่ถูกต้องเหมือนข้อมูลต้นแบบก่อนที่จะถูกส่งออกมา
• โปรโตคอล IP นี้จะเป็นโปรโตคอลในการสื่อสารแบบที่เรียกว่า Connectionless Protocol ซึ่งเป็นการสื่อสารที่จุดต้นทางและปลายของการสื่อสารไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างการเชื่อมต่อ (Connection) ขึ้นมา ณ เวลาที่ต้องการทำการสื่อสาร
Conversion to PCM (Pulse Code Modulation)
ในขั้นตอนแรกจะเป็นการแปลงสัญญาณ Analog ให้ไปอยู่ในรูปแบบสัญญาณ Digital หรือที่เรียกว่า PCM
Removal of Echo
ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการมีการแยกสัญญาณออกเป็นส่วนๆ เพื่อทำการตัดสัญญาณ Echo ออก ซึ่งกระบวนการนี้จะถูกจัดการโดย DSP (Digital Signal Processors)
Framing
ในส่วนของสัญญาณที่เหลือนั้น ก็จะถูกแบ่งและจัดรูปแบบขึ้นมาใหม่ในรูปของ Frame ซึ่งกระบวนการนี้จะถูกจัดการโดยรูปแบบการบีบอัดที่เรียกว่า CODEC หลังจากกระบวนการนี้แล้ว Frame ของสัญญาณเสียงจะถูกสร้างขึ้น
Packetisation
ในกระบวนการนี้จะเป็นการแปลง Frame ของสัญญาณให้มาอยู่ในรูปของ Packet ซึ่งจะมีการเพิ่ม Header เข้าไปใน Packet โดยในส่วนของ Header นั้น ก็จะประกอบไปด้วยข้อมูลที่เรียกว่า Sequence Number และ Time Stamp หลังจากนั้น Packet นี้จะถูกส่งต่อไปที่ Host Processor
Address and Delivery
หลังจากที่ได้แปลงสัญญาณให้อยู่ในรูปของ Packet แล้ว ข้อมูลนั้นจะถูกนำมาวิเคราะห์และใส่ค่า IP Address ปลายทาง
Conversion to Analog
หลังจากที่ได้ทำการใส่ค่าของ IP Address ปลายทางไปใน Header ของ Packet แล้วนั้น เมื่อ Packet เหล่านั้นไปถึงด้านปลายทาง ข้อมูล Header เหล่านี้จะถูกแยกออกเพื่อให้เหลือแค่ Voice Frame หลังจากนั้นก็จะทำการแปลงสัญญาณ Digital PCM ให้กลับมาเป็นสัญญาณรูปแบบ Analog ที่เป็นสัญญาณเสียงที่เราได้ยินกันอีกครั้งหนึ่ง
Error Correction
กระบวนการนี้จะเป็นกระบวนการที่ใช้ในการตรวจสอบและแก้ไขข้อผิดพลาดซึ่งอาจจะเกิดขึ้นระหว่างการส่งสัญญาณและนำมาซึ่งความผิดเพี้ยนหรือความเสียหายของสัญญาณจนทำให้เราไม่สามารถทำการสื่อสารอย่างถูกต้องได้
ระบบของ VoIP สามารถแบ่งได้เป็น 4 ส่วนคือ
1. Voice Processing module
ทำการสุ่มตัวอย่างสัญญาณเสียงเพื่อส่งผ่านเครือข่าย IP ซอฟต์แวร์นี้โดยทั่วไปทำงานบน DSP (Digital Signal Processing) Voice Processing module จะต้องประกอบด้วยโปรแกรมซึ่งทำหน้าที่ดังต่อไปนี้
1.1 PCM Interface
รับตัวอย่าง (สัญญาณสุ่ม) จาก telephony (PCM) interface และส่งต่อให้กับ VoIP Software module ปฏิบัติการต่อ PCM Interface จะทำการสุ่มตัวอย่างเฟสอีกครั้งจากตัวอย่างที่เป็นผลลัพธ์ของ analog interface ซึ่งจะมีการทำการบีบอัดเพื่อป้องกันสัญญาณรบกวน และทำการแปลงสัญญาณ Analog เพื่อไปเป็น Digital
1.2 Echo Cancellation Unit
เป็นหน่วยกำจัดการสะท้อนของสัญญาณข้อมูลเสียงที่ถูกสุ่มตัวอย่าง และรูปแบบของการสื่อสารเป็นแบบ full duplex ตามมาตรฐานของ ITU G.165 หรือ G.168 echo cancellation จำเป็นกรณีที่ความล่าช้า 1 รอบของ VoIP มีค่ามากกว่า 50 ms
1.3 Voice Activity/Idle Noise Detector
มีหน้าที่ระงับการส่ง Packet เมื่อไม่มีสัญญาณเสียง ทำให้ประหยัดแถบความถี่ ถ้าตรวจจับได้ว่าไม่มีกิจกรรมเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง ผลลัพธ์ของ voice encoder จะถูกระงับไม่ให้ส่งผ่านเครือข่าย ระดับของเสียงว่างเปล่า (idle noise) จะถูกวัดและแจ้งให้ปลายทางทราบเพื่อที่จะแทรก "comfortable noise" เข้าไปในสายเพื่อไม่ให้คนฟังได้รับสายเงียบในโทรศัพท์
1.4 Tone Detector
ทำหน้าที่ตรวจจับการได้รับ DTMF tones (Dial Tone Multi-Frequency; กลุ่มของ tones ที่ตรงตามมาตรฐานและถูกเขียนทับ ใช้ในสัญญาณโทรศัพท์ซึ่งกำเนิดโดย touch tone pad) และแยกสัญญาณว่าเป็นเสียง หรือ แฟกซ์
1.5 Tone Generator
มีหน้าที่กำเนิด DTMF tones และ call progress tones ภายใต้คำสั่งของระบบปฏิบัติการ(OS)
1.6 Facsimile Processing module
มีหน้าที่ถ่ายถอดแฟกซ์โดย Stimulate สัญญาณ PCM และแยกข่าวสารออกมา และบรรจุข้อมูลที่สแกนแล้วลงใน Packet
1.7 Packet Voice Protocol module
มีหน้าที่รวบรวมสัญญาณเสียงที่ถูกบีบอัด และข้อมูลแฟกซ์ เพื่อส่งผ่านเครือข่ายข้อมูล แต่ละ Packet มีลำดับเลขที่ทำให้ Packet ที่ได้รับถูกส่งเรียงกามลำดับถูกต้อง และสามารถตรวจจับ Packet ที่หายได้
1.8 Voice Playout module ที่ปลายทาง ทำหน้าที่บัฟเฟอร์ Packet ที่ได้รับ และส่งต่อให้กับเครื่องเข้ารหัสเสียง เพื่อเล่นเสียงออกมา
รูป Block diagram ของ Voice Processing Module
รูปโครงสร้างภายในตัวประมวลผลสัญญาณดิจิตอล ( DSP )
2. The Call Processing module
ทำหน้าที่เป็น signaling gateway ยอมให้มีการสร้าง call ผ่านเครือข่าย Packet ซอฟต์แวร์นี้ support E&M (Ear & Mouth Signaling; สายส่งสัญญาณระหว่าง PBX และ CO ใช้ในการจองสาย, ส่งต่อดิจิต และ เลิกสาย) และ loop, Call Processing module จะตรวจจับสัญญาณเรียกใหม่ที่เกิดขึ้น และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ ทำงานอ้างอิงตาม protocol H.323 มีฟังก์ชันที่ต้องปฏิบัติดังนี้
2.1 ตรวจสอบ interface ที่ต่อกับเครือข่ายโทรศัพท์เพื่อรับคำสั่ง และผลตอบที่จะเข้ามา
2.2 แยกข่าวสารออกมา และสิ้นสุดขั้นตอนการเข้าสัญญาณ (terminate signaling protocols เช่น E&M)
2.3 จัดการกับข่าวสารให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถเปิดการประชุม (session) ผ่านเครือข่าย Packet แปลงเบอร์โทรศัพท์เป็น IP address ขั้นตอนการหมุนเรียก (dialing) มี 2 วิธีคือ
(1) single stage หมุนเรียกเบอร์ของปลายทาง และ ใช้วิธีเลือกเส้นทางแบบอัตโนมัติ
(2) two stage หมุนเรียกเบอร์ของ VoIP gateway แล้วหมุนเรียกปลายทางจริง
3. Packet Processing module
เป็นขั้นตอนการบรรจุสัญญาณข้อมูลเสียงลงใน Packet เพิ่ม transport headers ก่อนส่ง Packet ผ่านเครือข่าย IP (หรือเครือ Packet อื่นๆ) แปลงข่าวสารของสัญญาณจาก telephony protocol เป็น packet signaling protocol
VoIP ทำงานโดยอาศัย protocol ที่ชื่อว่า H.323 ซึ่งเป็นชุดของมาตรฐานที่เกี่ยวกับหลายเรื่องรวมกัน โดยคลอบคลุมทั้งการสื่อสารแบบ จุดต่อจุด และหลายจุดพร้อมๆกัน
(1) Terminal คือ client หรือจุดที่ข้อมูล H.323 ถูกสร้างหรือขึ้น หรือสิ้นสุดการเดินทาง ซึ่งอาจจะเป็น PC หรือว่า เครื่องโทรศัพท์ที่สนับสนุน เครือข่าย IP ซึ่งอาจจะสนับสนุนสัญญาณวีดีโอด้วยก็ได้ Gateway คือ ใช้สำหรับเชื่อมต่อเครือข่ายที่ต่างชนิดกัน เพื่อทำการแปลงชนิดของข้อมูลให้เข้ากันได้กับเครือข่ายที่จะเชื่อมต่อ
(2) Gatekeeper เป็นตัวช่วยบริการต่างๆในแต่ละฝั่งของเครือข่าย ซึ่งมีหน้าที่ในการ แปลง address ระหว่างหมายเลขโทรศัพท์ กับหมายเลข IP , จำกัดการใช้งานของแต่ละ terminal , บริหาร bandwidth และจัดการเกี่ยวกับการหาเส้นทางให้กับ Packet
Multipoint Control Unit (MCU) ใช้ในการติดต่อแบบ หนึ่งจุดกับหลายจุด โดยจะทำการสร้างวงจรเสมือน ขึ้นมา ให้กับ terminal แต่ละตัวที่ทำการสนทนากันอยู่
3.1 Procedures ของ H.323
Audio Codecs
G.711 PCM สำหรับย่านความถี่เสียงพูด
G.722 7kHz audio coding ที่ 64kb/s
G.723.1 dual rate speech coders สำหรับส่งข้อมูล multimedia ที่ 5.3 และ 6.3 kb/s
G.728 Coding สำหรับเสียงพูดที่ 16 kb/s ใช้ Linear prediction
G.729 Coding สำหรับเสียงพูดที่ 16 kb/s ใช้ conjugate-structure algebraic code excite linear prediction
Video codes
H.261 Coding สำหรับ ภาพและเสียง ที่ p*64 kb/s
H.263 Coding สำหรับ ภาพและเสียง ที่ bit rate ต่ำ
Data conferencing
H.120 Data protocol สำหรับ multimedia conferencing
Control
H.245 กำหนด message ที่ใช้เปิด channel ของ media stream รวมไปถึงคำสั่ง(command), คำขอร้อง(request), และสัญญาณบอกสถานะ(indication) อื่นๆ
H.225.0 กำหนด message ที่ใช้ควบคุมการเรียก หรือ ขอติดต่อไปยังอีกฝ่ายหนึ่ง (call control) รวมทั้งสัญญาณที่ใช้ (signaling), การตอบรับ (registration และ admission) รวมทั้งการแบ่ง Packet และควบคุมจังหวะการทำงานให้ตรงกัน ของข้อมูลที่ส่ง (packetization/synchronization of media stream)
Real time transport
RTP/RTCP คือ IETF RFC1889 ใช้สำหรับส่งข้อมูลเวลาจริง
Security
H.235 กำหนดแนวทางของระบบรักษาความปลอดภัย การ Encryptions ตลอดจนตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในระบบ H.323 ทั้งหมด
Supplementary Services
H.450.1 กำหนดแนวทางสำหรับบริการเสริม กระบวนการและสัญญาณที่ใช้สำหรับ ให้บริการ ในรูปแบบที่คล้ายกับโทรศัพท์ธรรมดา
H.450.2 และ 450.3 ใช้ในการบริการที่เกี่ยวข้องกับการโอนสาย
3.2 ลำดับชั้นของ H.323 Terminal
ฟังก์ชันการทำงานของระบบ VoIP
• Addressing/Directories ผู้ใช้ปลายทางจำเป็นจะต้องมองเห็นเบอร์โทรศัพท์และ IP Address เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารด้วยเสียงอาจต้องมีเบอร์โทรศัพท์ และโทรศัพท์ที่สามารถใช้ IP จะต้องมี IP Address และการให้บริการ Internet Directory จะต้องแสดงความสัมพันธ์ของ IP Address และเบอร์โทรศัพท์ด้วย
• Authentication/Encryption VoIP รับประกันความปลอดภัยของระบบโทรศัพท์โดยการใช้บริการความปลอดภัยของ TCP/IP การโทรเรียกแบบส่วนตัวกระทำโดยการใช้ encryption
• Configuration Management Interface ที่ใช้งานง่ายเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดเรียงอุปกรณ์ มีพารามิเตอร์และตัวเลือกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากมาย ตัวอย่างเช่น telephony protocols, การเลือกอัลกอริทึมที่ใช้บีบอัดสัญญาณ, access control, คุณสมบัติของการหันมาอาศัยชุมสายโทรศัพท์, การจัดเรียง port และ เครื่องจับเวลา Internet
• การจัดการข้อผิดพลาด (Fault Management) ในการบริการและจัดการเครือข่ายต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ หลากชนิดและหลายยี่ห้อ ทำให้มีส่วนของการทำงานร่วมกับระบบจัดการเครือข่าย ซึ่งเรียกว่า เอเจนต์ (Agent) เอเจนต์เป็นส่วนของซอฟต์แวร์ที่อยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมอยู่ในเครือข่ายโดยมีคอมพิวเตอร์หลักเป็นตัวจัดการและบริหารเครือข่าย เพื่อความสะดวกในการจัดการโทรศัพท์ และจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เช่น การบัทึกข้อผิดพลาดของระบบ, การบันทึกบทสนทนา
• การคิดบัญชี/การคิดเงิน (Accounting/Billing) VoIP gateways มีหน้าที่นับจำนวนครั้งที่โทรสำเร็จและไม่สำเร็จ รายระเอียดเกี่ยวกับ call เช่น เวลาที่เริ่ม และยกเลิก call, เบอร์ที่หมุน, IP Address ของต้นสายกับปลายสาย, Packet ที่ส่งและได้รับ เป็นต้น จะถูกบันทึกไว้ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกดำเนินการโดย accounting packages ภายนอกซึ่งถูกใช้สำหรับ PSTN call ผู้ใช้ปลายทางไม่จำเป็นต้องได้รับใบเสร็จรับเงินหลายใบ
คุณสมบัติสำคัญของ VoIP เมื่อเทียบกับระบบโทรศัพท์แบบเดิม
ระบบโทรศัพท์แบบเดิม
ระบบโทรศัพท์แบบเดิมที่ใช้งานผ่านตู้สาขา (PBX) ช่วยให้องค์กรสามารถใช้คู่สายโทรศัพท์ที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถแจกจ่ายเบอร์ต่อให้กับผู้ใช้งานได้มากกว่าคู่สายจริง เปรียบเสมือนการแบ่งใช้คู่สายโทรศัพท์ โดยมี PBX เป็นตัวจัดการ โดยมีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ของระบบโทรศัพท์ คือ โอนสายและวอยซ์เมล์
ระบบโทรศัพท์แบบ VoIP
ระบบ VoIP เป็นเสมือนชุดแอพพลิเคชั่นสำหรับการติดต่อสื่อสารด้วยสียง ผ่านเครือข่ายข้อมูลแบบ IP โดยระบบมีคุณสมบัติของระบบฝากข้อความระบบอิเล็กทรอนิกเมล์และระบบแฟกซ์ไว้ด้ายกัน โดยมีคุณสมบัติการทำงาน ดังนี้
• สามารถโอนสายไปยังโทรศัพท์เครื่องอื่น หรือระบบวอยซ์เมล์อัตโนมัติ ในกรณีในกรณีไม่มีผู้รับสาย
• สามารถติดต่อผู้รับสายได้โดยตั้งลำดับการรับสายได้ เช่น เริ่มจากเครื่อง IP Phone ที่โต๊ะทำงาน, โทรศัพท์มือถือ และเบอร์ที่บ้าน หากยังไม่มีการรับสายอีกก็สามารถส่ง Massage ไปยัง E-Mail หรือโทรศัพท์มือถือ
• สามารถแสดงเบอร์โทรศัพท์ หรือ IP Address เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสาร ให้ผู้รับสายมองเห็นเบอร์ของคู่สนทนาได้
• สามารถใช้งานโทรศัพท์ผ่านทางเครื่อง IP Phone หรือคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
• สามารถตรวจข้อความ E-Mail, Voice Mail, Fax ผ่านแอพพลิเคชั่นบนเครื่องคอมพิวเตอร์
• สามารถรับ-ส่งแฟกซ์ผ่านเครื่องแฟกซ์หรือแอพพลิเคชั่นบนเครื่องคอมพิวเตอร์
การใช้ VoIP ให้เกิดประโยชน์
แน่นอนว่าเทคโนโลยีใหม่ย่อมนำสิ่งที่ดีกว่ามาให้เสมอ สำหรับ VoIP ก็เช่นเดียวกัน ประการสำคัญของประโยชน์ที่ได้รับจาก VoIP คงต้องเป็นเรื่องการลดค่าใช้จ่ายในการโทรศัพท์ขององค์กรลง ไม่ว่าจะเป็นการโทรในพื้นที่เดียวกันหรือโทรทางไกล แม้กระทั่งการโทรต่างประเทศ ทั้งโทรภายในองค์กรเองหรือโทรติดต่อกับหน่วยงานอื่นๆหรือลูกค้า ล้วนแล้วแต่ได้รับประโยชน์ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการโทรศัพท์ทั้งสิ้น ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากการนำ VoIP มาใช้อาจสรุปประเด็นเป็นข้อๆ ได้เช่น
1. ลดค่าใช้จ่าย (Cost Savings) ในการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ลง เนื่องจากเสียงได้ถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบเดียวกับข้อมูล จึงทำให้สามารถส่งสัญญาณเสียงไปในเครือข่าย LAN หรือ WAN ได้เลย ไม่ต้องผ่านเครือข่าย PSTN ที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า
2. เพิ่มความยืดหยุ่นในการติดต่อสื่อสารให้กับองค์กร เช่น ในสาขาหรือ Siteงานชั่วคราว สามารถนำ VPN ร่วมกับ VoIP ประกอบกันเพื่อสร้างระบบการติดต่อสื่อสารเต็มรูปแบบภายในองค์กรได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว
3. จัดการระบบเครือข่ายได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเครือข่ายการติดต่อสื่อสารทั้งหมด สามารถยุบรวมกันให้เหลือเพียงเครือข่ายเดียวได้ อีกทั้งในกรณีที่มีการโยกย้ายของหน่วยงานหรือพนักงาน การจัดการด้านหมายเลขโทรศัพท์และอื่นๆ สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินสายสัญญาณใดๆขึ้นมาใหม่
4. รองรับการขยายตัวของระบบในอนาคต หากในอนาคตองค์กรขยายตัวใหญ่ขึ้น VoIP สามารถรองรับผู้ใช้งานได้เพิ่มมากขึ้นในทันทีโดยการเพิ่ม “Virtual” User เข้าไปในระบบเท่านั้นเอง
5. ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลและจัดการระบบ (Reduce Operating Expenses) เนื่องจากใช้ซอฟต์แวร์ในการจัดการ ทำให้ VoIP นั้นง่ายในการจัดการและบำรุงรักษา
6. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (Increase Productivity) พนักงานสามารถส่งเอกสารผ่านเครือข่ายควบคู่ไปกับการสนทนา หรืออาจจัดการประชุมออนไลน์(Conference Call) ทั้งภาพและเสียง และแม้กระทั่งส่งเอกสารการประชุมให้กับผู้เข้าร่วมประชุมผ่านทางเครือข่ายได้อีกด้วย
7. ใช้ร่วมกับการสื่อสารไร้สายได้ ทำให้อุปกรณ์สื่อสารไร้สายต่างๆ เช่นโทรศัพท์มือถือหรือPDA สามารถติดต่อผ่าน VoIP เข้ามาในเครือข่ายขององค์กรได้
8. เพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อกับลูกค้า (Improved Level of Services) โดยใช้ความสามารถของแอพพลิเคชั่นต่างๆ ของ VoIP เช่น “Click-to-talk” เพื่อเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการติดต่อกับลูกค้า
แนวทางการนำระบบ VoIP ไปใช้งาน
แนวทางของเทคโนโลยีในการใช้งานของระบบ VoIP แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ
1.การพัฒนาเครือข่าย IP เดิม ให้มีส่วนที่เชื่อมต่อกับระบบสัญญาณเสียง (Voice enable IP Network) โดยการใช้ Voice interface บนอุปกรณ์เครือข่าย IP
2.การพัฒนาระบบเครือข่าย PBX เดิม ด้วยการเพิ่มเติม IP Interface ให้เป็น IP enabled PBX เพื่อสามารถรับส่งสัญญาณเสียงเข้าไปใน IP Network ได้
ซึ่งการพัฒนาระบบเครือข่าย PBX เดิมเพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้กับระบบ VoIP จึงจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับองค์กรที่ใช้งานระบบเครือข่าย PBX อยู่แล้ว ด้วยฟังก์ชั่นที่มีประโยชน์ต่างๆบน PBX ก็ยังคงนำมาใช้งานได้อย่างปกติ โดยระบบ PBX จะมองเครือข่าย IP เป็นเพียงเส้นทางรับส่งสัญญาณทางหนึ่งเท่านั้น ซึ่งระบบ IP-enable PBX สามารถประกันคุณภาพของสัญญาณเสียง มีการตรวจสอบเครือข่ายก่อนส่งข้อมูลออกไป และจะเปลี่ยนเส้นทางหากมีการจราจรหนาแน่นของเส้นทางเดิม เช่น ถ้าเครือข่าย IP ข้อมูลหนาแน่นก็จะเปลี่ยนการส่งข้อมูลเสียงออกไปทาง ISDN หรือ Frame relay
ทิศทางบริการแห่งยุค
Voice over IP เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการให้บริการอินเทอร์เน็ต และได้กลายเป็นบริการยอดนิยมของผู้ที่เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ และนักศึกษา ซึ่งมีเวลาแต่ไม่มีเงิน เมื่อไม่นานมานี้ และในปัจจุบัน Voice over IP ก็กำลังได้รับความนิยมจากผู้ใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การไม่สามารถเปิดให้บริการโทรศัพท์ด้วยเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตจากเครือข่ายที่มีอยู่เดิม อาจทำให้ผู้ให้บริการ เช่น เวอริซอน, เอสบีซี และเบลล์เซาธ์ ต้องสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดโทรคมนาคมมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ได้ เนื่องจาก เมื่อใช้ Voice over IP ลูกค้ามีอิสระในการใช้เครือข่ายของผู้ให้บริการเดิม หรือจะเปลี่ยนผู้ให้บริการใหม่ อย่างเช่น บริษัทผู้ให้บริการทีวีตามสาย (เคเบิล ทีวี) หรือธุรกิจเกิดใหม่ อย่าง Net2Phone และ Vonage ได้ ประกอบกับ การใช้งาน Voice over IP ไม่จำเป็นต้องโทรศัพท์ผ่านพีซีที่ใช้ไมโครโฟนเป็นอุปกรณ์เสริมอีกต่อไป แม้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าว กำลังจะกลับมาอีกครั้งตามกระแสนิยมบริการ อย่าง Skype ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยอาศัยสถาปัตยกรรมของคาซา และทำให้การโทรศัพท์แบบพีซีกับพีซีง่ายขึ้น ขณะที่คิดค่าธรรมเนียมเหมือนโทรศัพท์ทั่วไป คือ เพียง 100 ดอลลาร์เท่านั้น นับตั้งแต่เปิดตัวไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โวเนจ ผู้ให้บริการ Voice over IP ชั้นนำ สามารถดึงดูดให้ลูกค้า 85,000 คน จ่ายค่าบริการ 15 - 35 ดอลลาร์ต่อเดือน
ทิศทางในการพัฒนาเทคโนโลยีของ VoIP
จากวิวัฒนาการการสื่อสารของข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ ในแต่ละช่วงเวลาพบว่าการพัฒนารูปแบบของการสื่อสารในช่วงแรกคือ การสื่อสารแบบอนาล็อกทั้งระบบนั้น ใช้เวลาในการพัฒนานานมากกว่าจะกลายมาเป็นการรูปแบบในยุคที่ 2 คือระบบการสื่อสารกึ่งอนาล็อกกึ่งดิจิตอล มีการปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพในการส่งสัญญาณ โดยแปลงสัญญาณจากระบบอนาล็อก เป็นแบบดิจิตอลก่อนที่จะมีการส่งข้อมูลเหล่านั้นไปในระบบเครื่อข่าย และจะมีการแปลงมาเป็น สัญญาณระบบอนาล็อกอีกครั้งเพื่อให้โทรศัพท์ปลายทาง สามารถเข้าใจข้อมูลต่างที่ส่งมาได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากการเริ่มต้นส่งสัญญาณในยุคแรก ใช้เวลาถึง 60 ปี กว่าที่จะมีการเปลี่ยนรูปแบบในการสื่อสารแบบกึ่งอนาล็อกกึ่งดิจิตอล ยุคที่ 3 การพัฒนาของระบบการส่งสัญญาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เพียงในระยะเวลา 10 ปี รูปแบบของการสื่อสารการพัฒนาเป็นแบบการสื่อสารบริการร่วมดิจิตอล โดยการติดต่อสื่อสารเกือบทั้งหมดจะติดต่อกันด้วยสัญญาณดิจิตอล เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และเป็นยุคที่อินเตอร์เน็ทกำลังเติบโต ทำให้มีความต้องการในการติดต่อสื่อสารโดยสามารถส่งข้อมูลต่างๆได้นอกเหนือจากข้อมูลเสียงผ่านทางระบบเครือข่าย ซึ่งจะเห็นได้ว่าทิศทางในการพัฒนาการสื่อสารของข้อมูลผ่านระบบเครือข่าย สามารถเขียนได้อยู่ในรูปของ S- Curve ซึ่งการพัฒนาในยุคที่ 2 และ 3 มีการพัฒนาที่รวดเร็ว และใชเวลาสั้นมาก หากจะปรียบเทียบกับ S- Curve ก็จะอยู่ในช่วงของกึ่งกลางของ S- Curve ซึ่งเป็นช่วงที่เทคโนโลยีกำลังมีการพัฒนา ยังสามารถใช้เป็นฐานในการพัฒนาต่อยอดทางเทคโนโลยีต่อไปได้
เส้นทางของ VoIP ในประเทศไทย
การให้บริการวอยซ์ โอเวอร์ ไอพี (VoIP) ที่เป็นการแปลงสัญญาเสียงให้เป็นสัญญาณดิจิตอล แล้วส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เริ่มได้ยินกันมากขึ้นในไทย โดยเฉพาะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ไอเอสพี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระแสที่ไหลบ่าจากต่างประเทศที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องเดินตามหลังเห็นผู้ให้บริการอย่าง Skype, Yahoo MSN Messenger, GoogleTalk โดยเฉพาะ Skype มีจำนวนคนใช้พร้อมกันสูงกว่า 6-7 ล้านราย ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับโทรศัพท์พื้นฐานของไทย พัฒนาการของ VoIP เริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะโปรโมชัน ที่ใช้ก็มักจะเน้นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ถูกลง เมื่อเทียบกับโทรศัพท์พื้นฐาน และสามารถโทร.ได้ทั่วโลก สำหรับประเทศไทย เริ่มให้บริการ VoIP อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2549 โดยมีผู้ให้บริการประมาณ 40-50 ราย แต่จากจำนวนผู้ประกอบการดังกล่าวยังไม่มีรายไหนที่แจ้งเกิดได้ เพราะแม้บริการจะมีราคาถูกแต่มีความยุ่งยากในการใช้งาน และอ่อนในเรื่องของการให้ข้อมูลข่าวสาร บริการจึงเป็นกลุ่มคนที่เล่นเน็ต
ข้อมูลอ้างอิง
1.www.sicc.ac.th/electronic/pd/1.htm
2.http://www.tot.or.th/content/content.php?ContentID=Content-0509291111500009&lang=TH
3. http://www.nasic.moe.go.th/wanchai/2104-2217/CONTENT/PHONE_12.HTM
4.http://www.nectec.or.th/bid/mkt_info_tech_voip.htm
5.http://www.dcomputer.com/proinfo/TipTrick/techno_VoIP01.asp
6.http://www.tcs.co.th/solutions/ip_telephony.htm
7.http://www.value.co.th/articles/voip_tech.htm
8.http://eng.bu.ac.th/forum/viewtopic.php?t=300&view=previous&sid=d02bca844f4d210ba9f3a9edaf4bdf7b
9.http://www.networkmagazineindea.com/200202/200202edit.shtml
10.http://blog.tmcnet.com/blog/tom-keating/voip/voip-history.asp
11.http://www.vcharkarn.com/varticle/17875
12.http://www.dpu.ac.th/compcntre/page.php?id=2361
13.http://gotoknow.org/blog/voip/300860
14. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=172006
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น